การแห่ขบวนขันหมาก เป็นหนึ่งในพิธีสำคัญของงานแต่งแบบไทย แสดงถึงการให้เกียรติของทางบ้านเจ้าบ่าว เพื่อสู่ขอเจ้าสาวอย่างเป็นทางการค่ะ สำหรับใครที่ยังสับสนว่าลำดับในขบวนเป็นยังไง ใครต้องยืนตรงไหนบ้าง SabuyWedding จะมาช่วยให้เพื่อน ๆ เห็นภาพกันมากขึ้นค่ะ
ขบวนขันหมาก 1 : พานธูปเทียนแพ
เจ้าบ่าวจะเป็นคนเดินนำขบวนขันหมากไทย ถือพานธูปเทียนแพ เพื่อใช้ในพิธีรับไหว้ผู้ใหญ่ เหมือนเป็นการแนะนำตัวและนอบน้อมของเจ้าบ่าวค่ะ
ขบวนขันหมาก 2 : พานขันหมากเอก
ญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวถือพานขันหมากเอก ซึ่งบรรจุของมงคล ได้แก่ หมาก พลู ใบเงิน ใบทอง ใบนาก ถุงเงินถุงทองใส่ธัญพืชมงคลที่งอกงามง่าย เช่น ถั่วเขียว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ฯลฯ และดอกไม้ค่ะ
ขบวนขันหมาก 3 : พานสินสอด
ญาติผู้ใหญ่ฝั่งเจ้าบ่าวถือพานสินสอด สามารถมีหลายพานได้ตามปริมาณสินสอด บางบ้านอาจแยกเป็นพานใส่เงิน พานใส่ทอง เครื่องเพชร หรือพานใส่โฉนดค่ะ
ขบวนขันหมาก 4 : พานแหวน
ญาติผู้หญิงฝ่ายเจ้าบ่าวถือพานแหวนหมั้น โดยในช่วงแห่ขันหมาก จะวางเฉพาะแหวนที่ใช้หมั้นเจ้าสาวเท่านั้น ส่วนแหวนเจ้าบ่าวจะนำมาวางคู่กันภายหลัง เมื่อเข้าสู่ห้องทำพิธีแล้วค่ะ
ขบวนขันหมาก 5 : พานขันหมากโท
เพื่อนหรือญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจะถือพานขันหมากโท ใส่อาหารคาวหวานจำนวนเป็นเลขคู่เพื่อความเป็นมงคลค่ะ โดยนำด้วยพานหมู พานไก่ และพานวุ้นเส้นที่สื่อถึงความรักเหนียวแน่นยืนยาว ต่อด้วยพานผลไม้มงคล เช่น กล้วย ส้มโอ มะพร้าว ควรถือโดยคนที่มีร่างกายกำยำแข็งแรง เพราะพานนี้ค่อนข้างหนัก และปิดท้ายด้วยพานขนม เช่น ขนมไทยมงคล 9 ชนิดค่ะ
ขบวนขันหมาก 6 : ต้นกล้วยต้นอ้อย
ปิดท้ายด้วยเพื่อนหรือญาติฝ่ายเจ้าบ่าวถือคู่ต้นกล้วยและต้นอ้อย สื่อถึงความเจริญรุ่งเรือง อุดมสมบูรณ์ มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมืองค่ะ
สิ่งของในขบวนขันหมากงานแต่งไทยมักเป็นคู่เพื่อความเป็นมงคลค่ะ ซึ่งหากทางบ่าวสาวไม่สะดวกจัดเตรียมเอง ก็มีบริการเช่าขันหมวกสวย ๆ จัดเต็มให้บริการเช่นกันค่ะ เจ้าบ่าวเพียงแค่เตรียมนัดแนะคิวกับญาติและเพื่อน ๆ เพื่อหาคนถือพานในตำแหน่งต่าง ๆ ตามธรรมเนียมเท่านั้นค่ะ