สำหรับงานแต่งงานแบบไทย หลังจากจบพิธีหมั้นหมาย สวมแหวนเป็นที่เรียบร้อย อีกหนึ่งพิธีการสำคัญที่ขาดไม่ได้คือพิธีรับไหว้ หรือพิธีไหว้ผู้ใหญ่ ซึ่งในงานแต่งแบบจีนหลังจากยกน้ำชาแล้วก็มีพิธีนี้เช่นกันค่ะ ตามมาทำความรู้จักพิธีรับไหว้ รวมถึงตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับของรับไหว้งานแต่ง ต้องมอบให้ใครบ้าง
พิธีรับไหว้ คืออะไร
พิธีรับไหว้ คือ พิธีสำคัญที่คู่บ่าวสาวส่งมอบคำขอบคุณให้กับผู้ใหญ่ในครอบครัวของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้บ่าวสาวได้กล่าวคำขอบคุณ ฝากเนื้อฝากตัว รวมถึงทำความรู้จักกับผู้ใหญ่ของทั้งสองครอบครัวมากยิ่งขึ้น โดยใช้ของรับไหว้เป็นสื่อกลางในการแสดงความเคารพ แล้วผู้ใหญ่ก็จะให้ศีลให้พรและมอบของขวัญให้กับคู่บ่าวสาวค่ะ
ของรับไหว้งานแต่ง คืออะไร ต่างจากของชำร่วยยังไง
ของรับไหว้งานแต่ง คือ ของที่บ่าวสาวมอบให้แด่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายที่มาในพิธีรับไหว้ ใช้ได้กับทั้งพิธีการแบบไทยและพิธีการยกน้ำชาแบบจีนค่ะ โดยมากของรับไหว้มักจะมีราคาสูงกว่าและมีขนาดใหญ่หรือปริมาณต่อหน่วยมากกว่าของชำร่วย ซึ่งมอบให้กับแขกที่มาร่วมงานทุกท่าน
Cr. รามจิตต์, AERK Photography
ของรับไหว้ ให้ใครบ้าง ลำดับอย่างไร
สำหรับบ่าวสาวที่ยังไม่แน่ใจว่าต้องเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายละกี่ท่านมารับไหว้ เป็นใครบ้าง และควรเรียงลำดับอย่างไร การไหว้ผู้ใหญ่ควรเรียงลำดับดังนี้
คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย ของบ่าวสาว - ตามลำดับความอาวุโสที่สุด เป็นการให้เกียรติผู้ใหญ่ผู้ที่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้าน บางครอบครัวปู่ย่าตายายก็เป็นผู้ฟูมฟักเลี้ยงดูบ่าวสาวแทนพ่อแม่ จึงควรจัดลำดับท่านไว้เป็นอันดับแรก เพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณก่อนที่บ่าวสาวจะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงอีกจุดหนึ่งของชีวิต
คุณพ่อคุณแม่ของบ่าวสาว - บุคคลผู้ให้กำเนิด มีพระคุณสูงสุดในการเลี้ยงดูฟูมฟักบ่าวสาวให้เติบใหญ่จนได้พบกัน
ญาติผู้ใหญ่ - บางครอบครัวเป็นครอบครัวใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ไกลแค่ไหน แต่วันแต่งงานคือวันรวมความอบอุ่นจากญาติมิตร การมอบของรับไหว้จึงเป็นสิ่งแทนคำขอบคุณญาติ ๆ ที่มาอวยพรในวันสำคัญนี้
หัวหน้างาน ผู้อาวุโสที่เคารพนับถือ - แม้พิธีรับไหว้จะเป็นพิธีสำคัญในครอบครัว แต่หากคู่บ่าวสาวเชิญหัวหน้างานที่เคารพหรือผู้อาวุโสที่นับถือมาร่วมในพิธี ก็จำเป็นที่จะต้องเชิญขึ้นมาร่วมพิธีรับไหว้เช่นกัน หรือหากไม่ได้มาร่วมงานแต่ตอบรับคำเชิญผ่านการ์ด ก็ควรให้ของรับไหว้แทนคำขอบคุณ
ของรับไหว้ เตรียมไว้เท่าไรถึงจะพอดี
พอทราบลำดับการให้ของรับไหว้แล้ว จะเห็นว่าเมื่อลิสต์จำนวนออกมาอาจจะเยอะมาก ทำให้เตรียมจำนวนและจัดสรรงบส่วนนี้ไม่ถูก อันดับแรกแนะนำให้ถามผู้ใหญ่ของทั้งฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ว่าจะมีญาติผู้ใหญ่ หรือเพื่อนสนิทมาในพิธีรับไหว้กี่ท่าน โดยอาจนับถึงลำดับที่เท่า ๆ กัน เช่น นับเฉพาะขั้นพี่น้องของคุณพ่อคุณแม่ทั้งสองฝ่าย จากนั้นค่อยลิสต์รายชื่อให้ครบค่ะ
ส่วนใครที่สงสัยว่า ของรับไหว้ ให้เป็นคู่หรือเป็นเดี่ยว ส่วนใหญ่แล้วของรับไหว้มักให้ 1 ชิ้น ต่อ 1 คู่ ใช้หลักการเดี่ยวกับการยกน้ำชาที่ให้เป็นคู่ค่ะ หรือบางบ้านอยากให้คนละชิ้นก็สามารถทำได้ แต่ต้องจัดสรรงบให้ดี ๆ ค่ะ
Cr. รามจิตต์
ขั้นตอนรับไหว้
พิธีรับไหว้นี้มักเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการหมั้น ซึ่งหากแขกที่มารดน้ำสังข์เยอะ กลัวจะกินเวลา หลายคู่จึงนิยมนำพิธีรับไหว้มาไว้ก่อนการหลั่งน้ำสังข์ค่ะ ส่วนในพิธีจีนก็จัดไว้ในช่วงยกน้ำชาได้เลยค่ะ โดยขั้นตอนรับไหว้มีดังนี้
- พิธีกรเชิญญาติผู้ใหญ่มายังบริเวณจัดทำพิธี
- บ่าวสาวยกพานธูปเทียนแพไหว้ผู้ใหญ่
- ผู้ใหญ่รับพานธูปเทียนแพ กล่าวให้พร แล้วมอบพานพร้อมของขวัญแก่บ่าวสาว
- เจ้าบ่าว-เจ้าสาวรับพานธูปเทียนแพวางไว้ด้านหน้า และมอบของรับไหว้
- พิธีนี้ควรมีเพื่อนเจ้าสาว หรือพี่ น้อง เพื่อช่วยหยิบของรับไหว้ด้วยค่ะ
ความเชื่อเกี่ยวกับของรับไหว้
การเลือกของรับไหว้ในพิธีไหว้ผู้ใหญ่นั้น ไม่ใช่จะให้ของอะไรก็ได้ แต่มีความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณในการเลือกของด้วย
นิยมมอบของรับไหว้เป็นผ้า ด้วยสมัยก่อนมีความเชื่อที่ว่า เปรียบคู่บ่าวสาวเป็นเส้นด้ายที่มีการถักทอจนกลายเป็นผืนเดียวกัน เหมือนการนำ 2 ครอบครัวมาเป็นทองแผ่นเดียวกัน อีกทั้งผ้ายังสามารถใช้ได้ทุกเพศทุกวัย น้ำหนักเบา ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ไม่นิยมให้ของที่แตกง่าย เช่น ถ้วยชาม แก้วต่าง ๆ เพราะโบราณถือว่าของที่แตกง่ายจะทำให้เกิดความแตกหัก ร้าวฉาน แต่มองในแง่ของความจริง ของเหล่านี้มักมีน้ำหนักมาก อีกทั้งไม่สะดวกเวลาเดินทาง ยิ่งถ้าผู้ใหญ่ที่รับไหว้เป็นผู้สูงอายุ ยิ่งทำให้เกิดความลำบาก
ปัจจุบันของรับไหว้มีหลายประเภทมากขึ้น แพ็กเกจสวยงาม สะดวก และมีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ดังนั้นการเลือกของรับไหว้จึงขึ้นอยู่กับความพอใจของบ่าวสาวและผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย หากไม่มีการคัดค้านอะไรก็สามารถใช้อะไรเป็นของรับไหว้ก็ได้ค่ะ